ความท้าทายในการแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 

เขียนโดย

ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์ที่มีคำบรรยายใต้ภาพหรืออ่านหนังสือแปลดีๆ แล้วอยากลองแปลอะไรเล่นๆ ดูสักหน่อยล่ะก็ เราขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ คุณได้เข้าสู่วงการการแปลแล้ว! การแปลภาษาไม่ว่าจะเป็นคู่ภาษาอังกฤษ – ไทย หรือ ไทย – อังกฤษ ไม่ใช่เรื่องที่ยากขนาดนั้นแต่จะพูดว่าง่ายก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะการแปลไม่ใช่เพียงแค่การแปลแบบคำต่อคำ แต่เป็นการที่คุณต้องเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่จะแปลด้วย ดังนั้นก่อนที่คุณจะเริ่มแปลโปรเจกต์ของคุณ เราจะขอแนะนำให้คุณรู้จักกับความท้าทายเล็กๆ ที่แม้แต่นักแปลภาษามืออาชีพก็พบเจอได้บ่อยๆ ในการแปลกันค่ะ

โครงสร้างไวยากรณ์ของทั้งสองภาษาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!

ทุก ๆ ภาษาบนโลกนี้ต่างก็มีโครงสร้างไวยากรณ์เป็นของตนเอง ซึ่งไวยากรณ์ของบางภาษาอาจจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ในกรณีของภาษาไทยและภาษาอังกฤษค่ะ ประโยคในภาษาอังกฤษจะใช้กริยาในการบ่งบอกเวลา ในขณะที่ภาษาไทยจะใช้คำขยายและบริบท ภาษาไทยยังมีรูปแบบในการวางคำขยายไว้ข้างหลังคำนามหรือคำกริยา ในขณะที่ภาษาอังกฤษนั้นกลับตรงกันข้าม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น คำว่า “chocolate milk” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำว่า chocolate ขยายคำว่า milk ดังนั้นจึงหมายถึงนมรสช็อกโกแลต แต่หากว่ากันตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทยแล้ว “ช็อกโกแลตนม” จะหมายถึงช็อกโกแลตบาร์ใส่นมที่มีรสหวาน เพราะภาษาไทยนำคำขยายมาไว้ข้างหลังคำหลักนั่นเอง และเพราะเหตุนั้น โครงสร้างไวยากรณ์ของทั้งสองภาษาจึงอาจทำให้คุณสับสนในการแปลบ้างเป็นบางครั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักแปลหรือไม่ก็ตาม

การแปลสำนวนและคำแสลงเป็นเรื่องที่ท้าทาย

หนังสือและภาพยนตร์มักจะเต็มไปด้วยสำนวนและคำแสลงมากมายทำให้การแปลสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่สักหน่อย เพราะคุณไม่สามารถแปลข้อความเหล่านั้นแบบตรงตัวได้ คุณต้องเข้าใจในบริบทของข้อความนั้นอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งต้องมีความรู้ในเรื่องของสำนวนและคำแสลงของทั้งสองภาษา ยกตัวอย่างเช่น สำนวนไทยที่กล่าวว่า “กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา” แต่สำนวนที่มีความหมายเดียวกันในภาษาอังกฤษกลับเป็น “don’t bite the hand that feeds you” หากแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยแล้วจะแปลว่า “อย่ากัดมือที่ให้อาหาร” ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับบ้านหรืออุจจาระเลยแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นหากคุณไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนของทั้งสองภาษา คุณจะไม่สามารถแปลให้ผู้อ่านเข้าใจได้เลยค่ะ

การเลือกใช้คำเป็นสิ่งสำคัญ

หากคุณไม่เลือกใช้คำที่เหมาะสมในการแปล ประโยคของคุณอาจฟังดูประหลาดก็ได้ ดังนั้นคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำหนึ่งคำอาจมีได้หลายความหมายทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คุณจึงต้องทำความเข้าใจเนื้อหาที่จะแปลก่อน เพื่อที่จะเลือกใช้คำแปลที่เหมาะสมกับบริบท คำว่า “date” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งเลยค่ะ เมื่อมีคนพูดว่า “I love eating dates” นั่นไม่ได้แปลว่าเธอผู้นั้นชอบรับประทานคู่เดตของตัวเองหรอกนะคะ แต่หมายถึงเธอชอบรับประทานอินทผลัมต่างหาก เพราะคำว่า “date” สามารถแปลว่า อินทผลัมก็ได้ค่ะ อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นจะเป็นคำว่า “นั่ง” ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้ง sit และ sat ในภาษาอังกฤษ เนื่องจากคำกริยาในภาษาไทยไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้เวลา จึงเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องทำความเข้าใจในบริบทแล้วเลือกใช้คำให้เหมาะสมค่ะ

ขอรับใบเสนอราคาฟรี

รับใบเสนอราคาสำหรับเอกสารของคุณได้ฟรีและรวดเร็ว

ศัพท์เฉพาะทางมันเดากันไม่ได้!

ความท้าทายอีกข้อหนึ่งในการแปลคือเรื่องของศัพท์เฉพาะทางค่ะ หากเป็นเพียงบทสนทนาทั่วไป คุณสามารถ ตีความและเล่นคำเมื่อต้องการคงความลื่นไหลของบทสนทนา หรือเดาคำศัพท์ที่ไม่ทราบจากบริบทของประโยคได้ แต่คุณไม่สามารถทำแบบนั้นกับศัพท์เฉพาะทางได้ค่ะ คุณต้องค้นหาศัพท์เฉพาะของคำนั้นๆ เช่น คำว่าโรคปอดอักเสบ (pneumonia) หรือคำว่าน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) ใช่ไหมคะ? นั่นเพราะว่าในแต่ละภาษาจะมีคำศัพท์เฉพาะของคำนั้นๆ อยู่แล้ว คุณจึงไม่สามารถเดาความหมายของคำเหล่านั้นได้นั่นเองค่ะ

ภาษาพื้นเมืองและภาษาท้องถิ่น

ในประเทศไทย แต่ละพื้นที่ต่างก็มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง คำว่า “ทำ” ในภาคกลาง จะกลายเป็นคำว่า “ยะ” ในภาคเหนือ และ “เฮ็ด” ในภาคอีสาน หรือแม้แต่ในหมู่ประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็ยังมีคำที่ใช้ต่างกัน เช่นคำว่า “Sanga” ซึ่งเป็นคำแสลงในประเทศออสเตรเลีย แปลว่าแซนด์วิช มีกี่คนที่รู้ความหมายของคำนี้บ้างคะ? ลองจินตาการดูว่าการต้องแปลภาษาอังกฤษของประเทศที่เราไม่คุ้นเคยให้เป็นภาษาไทยจะท้าทายขนาดไหน แม้แต่การแปลภาษาถิ่นในไทยเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน คุณต้องอาศัยความรู้และการค้นคว้ามากมายกว่าจะมั่นใจว่าคุณจะสามารถแปลและเรียบเรียงออกมาให้อ่านง่ายและเข้ากับบริบทได้เป็นอย่างดี

การแปลอาจจะมาพร้อมกับความท้าทายมากมายแต่ก็มาพร้อมกับความสนุกสนานด้วยเช่นกัน หลังจากที่คุณได้อ่านบทความของเราแล้วคุณอาจจะอยากพุ่งตัวไปแปลอะไรสักอย่างตอนนี้เลย หรืออาจจะคิดกับตัวเองว่าคุณไม่เหมาะกับการแปลเอาเสียเลย (ซึ่งไม่เป็นไรเลยค่ะ เราเชื่อว่าคุณมีสิ่งอื่นที่คุณถนัดมากกว่าอยู่แล้ว) แต่ยังมีโปรเจกต์ที่ต้องได้รับการแปลอยู่ ให้เราช่วยคุณสิคะ! สวัสดีทรานสเลชั่นส์ ให้บริการแปลภาษาทั้งจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยในราคาที่คุ้มค่ามากๆ เลยล่ะค่ะ ติดต่อเราเพื่อขอใบเสนอราคาได้ฟรี แล้วคุณจะไม่ผิดหวังเมื่อได้ลองใช้บริการของเรา!

sara profile photo

นริศรา เสนะวีณิน

ซาร่า เป็นคนไทยซึ่งผ่านการทำงานในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก เธอมีความรักในภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และขณะนี้ทำงานเป็นนักแปลภาษาอยู่กับเราที่สวัสดีทรานสเลชั่นส์

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: